บล็อกของ PoundXI
เทคโนโลยี, คอมพิวเตอร์, เขียนโปรแกรม และอื่นๆ

แนะนำ Search Engine ที่ช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณ


โพสต์เมื่อ 2019-09-27 โดย PoundXI

ทำไมต้องใช้ Search Engine ที่ปกป้องความเป็นส่วนตัว ?

  • เพื่อการค้นหาที่เป็นส่วนตัว ไม่มีใครรู้ว่าคุณค้นหาอะไร หรือค้นหาเมื่อไหร่
  • เพื่อป้องกันประวัติการค้นหาของคุณที่ถูกเก็บไว้โดยผู้ให้บริการรั่วไหล
  • เพื่อป้องกันผู้ให้บริการเอาประวัติการค้นหาของคุณไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • เพื่อเปิดกว้างการค้นหาของคุณ ไม่ให้ผลการค้นหาของคุณถูกแสดงผลเฉพาะแต่สิ่งที่คุณสนใจเท่านั้น (แก้ไขปัญหา filter bubble)
  • เพื่อผลการค้นหาที่ไม่ถูกบิดเบือนโดยผู้ให้บริการ

Search Engine ที่ปกป้องความเป็นส่วนตัว ต่างจาก Search Engine แบบเดิมๆ ยังไง ?

Search Engine เหล่านี้จะมีนโยบายที่ชัดเจน ที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดย Search Engine เหล่านี้จะถูกเรียกว่า “Privacy Focused Search Engine”

นโยบายความเป็นส่วนตัวของ Search Engine ประเภทนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้ให้บริการ แต่โดยพื้นฐานแล้วก็มักจะมีสิ่งที่เหมือนๆ กันคือ ไม่เก็บประวัติการค้นหา, ไม่ใช้ cookie เพื่อการระบุตัวตนผู้ใช้, ไม่เก็บประวัติ IP Address, ไม่เก็บข้อมูล User Agent, ไม่เก็บข้อมูลอื่นๆ ที่อาจใช้เพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้, ไม่แบ่งปัน ขาย หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เป็นต้น

รายชื่อ Privacy Focused Search Engine

รายชื่อ Privacy Focused Search Engine ต่อไปนี้ ผมได้ค้นหาข้อมูลเบื้องต้น อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว และทดลองใช้งานมาด้วยตัวเองระยะหนึ่งแล้ว และผมก็คิดว่าตัวเลือกต่อไปนี้ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ จากทั้งหมดของ Search Engine ประเภทนี้ครับ

  1. DuckDuckGo.com
  2. StartPage.com
  3. Qwant.com
  4. Ecosia.org

DuckDuckGo.com

DuckDuckGo Homepage
DuckDuckGo.com homepage
  • URL: duckduckgo.com และ duck.com (URL แบบสั้น)
  • สำนักงานใหญ่: อเมริกา
  • ที่มาของผลการค้นหา: ผลการค้นหามาจาก index ของตัวเอง, และจากพาร์ทเนอร์ ได้แก่ Oath (อดีต Yahoo) และ Bing, และจากแหล่งอื่นๆ รวมกันกว่า 400 แหล่งที่มา
  • ที่มาของรายได้:
    • รายได้จากการแสดงโฆษณาของ Yahoo-Microsoft search alliance
    • รายได้จากค่าคอมมิชชั่น Affiliate program ของ Amazon และ eBay
  • app สำหรับมือถือ: Android, iOS
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว: https://duckduckgo.com/privacy
  • จุดเด่น:
    • มีผลการค้นหาที่หลากหลาย
    • มีเมนูภาษาไทย
    • มี Search Suggestion ภาษาไทย
    • สามารถตั้งค่าเพื่อปิดการแสดงโฆษณาได้
    • เป็น Privacy Focused Search Engine ที่มี market share เยอะที่สุด ณ เวลานี้
  • จุดด้อย:
    • เมื่อค้นหาด้วยคำค้นภาษาไทย บ่อยครั้งที่ผลการค้นหาไม่สอดคล้องกับคำค้นหา
    • เมื่อค้นหาด้วยคำค้นภาษาไทย บ่อยครั้งที่ปรากฏเว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่ขึ้นมาในผลการค้นหา แม้จะตั้งค่า Safe Search เป็น Strict หรือ Moderate แล้วก็ตาม (ไม่เหมาะที่จะให้เด็กๆ ใช้ Search Engine ตัวนี้)
  • แหล่งอ้างอิง:

StartPage.com

Startpage.com Homepage
Startpage.com homepage
  • URL: startpage.com และ ixquick.com (URL เก่าที่ redirect ไปยัง startpage.com)
  • สำนักงานใหญ่: เนเธอร์แลนด์/ยุโรป
  • ที่มาของผลการค้นหา: Startpage จ่ายเงินให้กับ Google เพื่อให้ได้มาซึ่งผลการค้นหา โดย Startpage จะลบ metadata เช่น IP Address หรือข้อมูลอื่นๆ ที่จะสามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้ออกก่อน จากนั้นจึงจะ query ไปยัง Google อีกที
  • ที่มาของรายได้:
    • รายได้จากการแสดงโฆษณาของ Google Adwords
  • app สำหรับมือถือ: Android, iOS
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว: https://www.startpage.com/en/search/privacy-policy.html
  • จุดเด่น:
    • เป็น Privacy Focused Search Engine ที่มีผลการค้นหาใกล้เคียง Google Search มากที่สุด เพราะว่ารับผลการค้นหามาจาก Google
    • บอกความใหม่/เก่าของ content ว่าสร้างมาแล้วกี่ชั่วโมง กี่วัน หรือสร้างวันไหน (เป็นบางรายการ)
    • มีปุ่ม Anonymous View แสดงอยู่ในผลการค้นหา ช่วยให้คุณเยี่ยมเว็บไซต์จากผลการค้นหาแบบไม่ระบุตัวตนได้ ซึ่งเป็นความสามารถที่ดีมากๆ
  • จุดด้อย:
    • ผลการค้นหาขึ้นอยู่กับ Google
  • แหล่งอ้างอิง:

Qwant.com

Qwant Homepage
Qwant.com homepage
  • URL: qwant.com และ lite.qwant.com (เวอร์ชั่นใช้ทรัพยากรน้อย)
  • สำนักงานใหญ่: ฝรั่งเศษ/ยุโรป
  • ที่มาของผลการค้นหา: ผลการค้นหาจาก index ของตัวเอง ซึ่งถูกเติมเต็มด้วยผลการค้นหาจาก Bing อีกทีหนึ่ง เพราะว่า index ของตัวเองยังไม่ครอบคลุมมากพอ
  • ที่มาของรายได้:
    • รายได้จากการแสดงโฆษณาของ Bing
  • app สำหรับมือถือ: Android, iOS
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว: https://about.qwant.com/legal/privacy/
  • จุดเด่น:
    • พยายามที่จะเป็นอิสระจาก Search Engine ตัวอื่นๆ ถึงแม้ปัจจุบันยังต้องเติมเต็มผลการค้นหาของตัวเองจาก Bing อยู่ก็ตาม
  • จุดด้อย:
    • ผลการค้นหาบางส่วนยังขึ้นอยู่กับ Bing
  • แหล่งอ้างอิง:

Ecosia.org

Ecosia Homepage
Ecosia.org homepage
  • URL: ecosia.org
  • สำนักงานใหญ่: เยอรมัน/ยุโรป
  • ที่มาของผลการค้นหา: ผลการค้นหาทั้งหมดมาจาก Bing
  • ที่มาของรายได้:
    • รายได้จากการแสดงโฆษณาของ Bing
    • รายได้จากค่าคอมมิชชั่น Affiliate program ของ Bing
    • รายได้เล็กๆ จากการขายเสื้อ
  • app สำหรับมือถือ: Android, iOS
  • นโยบายความเป็นส่วนตัว: https://info.ecosia.org/privacy
  • จุดเด่น:
    • รายได้กว่า 80% ถูกใช้เพื่อฟื้นฟูป่า (ยิ่งคนค้นหาเยอะ ยิ่งปลูกต้นไม้เยอะ)
  • จุดด้อย:
    • ผลการค้นหาขึ้นอยู่กับ Bing
  • แหล่งอ้างอิง:

ถ้าขึ้นอยู่กับ Search Engine อื่น แล้วต่างกันตรงไหน ?

  1. Privacy Focused Search Engine ยังแตกต่างจาก Search Engine ทั่วๆ ไป ตรงที่มีนโยบายที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
  2. เราค้นหาผ่าน Privacy Focused Search Engine ดังนั้น Privacy Focused Search Engine จะเป็นตัวกลางระหว่างเรากับ Search Engine ที่ให้ข้อมูลอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น Search Engine เหล่านั้นจะไม่รู้ว่าเราเป็นผู้ค้นหา และบันทึกประวัติการค้นหาของเราไม่ได้
  3. ถึงแม้ว่า Privacy Focused Search Engine จะต้องพึ่งข้อมูลจาก Search Engine ตัวอื่นๆ แต่อย่างน้อยๆ ผลการค้นหาที่ได้ ก็จะไม่ถูกอ้างอิงจากประวัติการค้นหา ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้ผลการค้นหาต่างกัน และ Privacy Focused Search Engine บางตัวก็ยังมี algorithm ในการแสดงผลการค้นหาของตัวเอง ซึ่งทำให้ผลลัพธ์นั้นแตกต่างออกไปนั่นเอง

แสดงโฆษณา แล้วจะปกป้องความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร ?

Search Engine ทั่วไปจะติดตามผู้ใช้ ว่าผู้ใช้สนใจสิ่งใดบ้างจากประวัติการค้นหา เพื่อคัดเลือกโฆษณาที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้มาแสดง ทำให้ผู้ใช้มีโอกาสคลิกโฆษณานั้นๆ มากขึ้น

แต่ Privacy Focused Search Engine จะคัดเลือกโฆษณาโดยอ้างอิงจากคำค้นหาปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ผู้ให้บริการ และยังรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ไว้ได้พร้อมกัน

แล้วจะเลือกใช้ Search Engine ตัวไหนดี ?

ผมแนะนำให้ทดลองใช้ทุกตัวที่คุณสนใจ ถ้าชอบตัวไหนมากที่สุด คุณก็สามารถใช้ตัวนั้นเป็นตัวหลักได้

หรือคุณอาจจะไม่ต้องเลือกเลยก็ได้ เพราะคุณสามารถสลับใช้งาน Search Engine ไปมาได้ตามโอกาส และหากคุณชอบ Search Engine ตัวไหนมากที่สุด คุณก็สามารถตั้ง Search Engine ตัวนั้นให้เป็น Default Homepage หรือ Default Search Engine หรือคุณจะ Bookmark Search Engine หลายๆ ตัวเอาไว้เลือกใช้บน Browser ของคุณก็ได้เช่นกัน

สรุป

  • Privacy Focused Search Engine ช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวให้แก่คุณ เมื่อคุณค้นหาสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์
  • คุณสามารถเลือกใช้ตัวไหนเป็นตัวหลักก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละบุคคล
  • คุณไม่จำเป็นต้องเลือกใช้เฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง คุณสามารถสลับการใช้งานไปมาได้
  • คุณไม่ได้เป็นคนสร้าง Privacy Focused Search Engine ใช้เอง ดังนั้นไม่มีอะไรการันตีได้ว่า Privacy Focused Search Engine เหล่านี้จะปฏิบัติตามนโยบายความเป็นส่วนตัวได้ 100% แต่อย่างน้อย Privacy Focused Search Engine เหล่านี้ก็ยังมีแนวโน้มที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวมากกว่า Search Engine ทั่วๆ ไป

ข้อมูลเพิ่มเติม


โพสต์ที่เกี่ยวข้อง


ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น
โปรดเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น