บล็อกของ PoundXI
เทคโนโลยี, คอมพิวเตอร์, เขียนโปรแกรม และอื่นๆ

Linux คืออะไร ?


โพสต์เมื่อ 2016-05-29 โดย PoundXI

Linux อ่านว่า ลินุกซ์ มีความหมายที่ถูกเข้าใจกันโดยทั่วไปได้ 2 ความหมาย คือ

  1. ลินุกซ์ ซึ่งหมายถึง ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux Operating System)
  2. ลินุกซ์ ซึ่งหมายถึง ลินุกซ์ เคอร์เนิล (Linux Kernel)
Tux.svg
มาสคอต อย่างเป็นทางการของ Linux Kernel ชื่อว่า Tux

เริ่มแรกลินุกซ์ถูกสร้างขึ้นโดย Linus Torvalds โดยใช้ระบบปฏิบัติการ MINIX ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์เป็นต้นแบบ โดย Linus Torvalds ไม่ได้พัฒนาลินุกซ์ให้เป็นระบบปฏิบัติการ แต่พัฒนาให้ลินุกซ์เป็นเพียงเคอร์เนิล (Kernel) หรือแก่นของระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นส่วนที่อยู่ระดับล่างสุด และใกล้ชิดกับฮาร์ดแวร์มากที่สุด มีหน้าที่หลักในการติดต่อกับฮาร์ดแวร์ (Hardware) และจัดสรรทรัพยากรของระบบ (Resources Management) เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการถูกนำไปใช้งานโดยผู้ใช้ทั่วไป

Kernel Layout.svg
By Bobbo (Own work) [CC BY-SA 3.0 or GFDL], via Wikimedia Commons

ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน Richard Stallman ก็ได้พยายามสร้างระบบปฏิบัติการที่เข้ากันได้กับระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ ซึ่งระบบปฏิบัติการนี้ประกอบไปด้วยไลบรารี่, คอมไพเลอร์, โปรแกรมแก้ไขข้อความ, เชลล์ และ Windowing System จะเหลือก็แต่ส่วนที่เป็นเคอร์เนิลซึ่งยังพัฒนาออกมาได้ไม่สมบูรณ์ Richard Stallman จึงได้เอาลินุกซ์ เคอร์เนิลที่พัฒนาโดย Linus Torvalds มาใช้แทน จนทำให้ลินุกซ์ถูกเรียกได้ว่าเป็นระบบปฏิบัติการในที่สุด

Linux Distribution คืออะไร ?

Linux Distribution (อ่านว่า ลินุกซ์ดิสทริบิวชัน) หรือเรียกย่อๆ ว่า Linux Distro (อ่านว่า ลินุกซ์ดิสโทร) คือ ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ที่ถูกออกแบบและปรับแต่งเพื่อการแจกจ่าย โดยการนำเอาระบบปฏิบัติการลินุกซ์มาปรับแต่งและเพิ่มซอฟต์แวร์พื้นฐานต่างๆ รวมเข้าไป เช่น เพิ่มส่วนติดต่อผู้ใช้, โปรแกรมจัดการไฟล์, โปรแกรมสำหรับดูหนัง-ฟังเพลง, โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ เป็นต้น สรุปง่ายๆ ก็คือ ลินุกซ์ดิสโทรเป็นระบบปฏิบัติการลินุกซ์แบบสำเร็จรูป พร้อมใช้งาน เมื่อติดตั้งแล้วแทบจะไม่ต้องปรับแต่งหรือติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเลย ใช้งานได้ทันที เช่น Arch Linux, Debian, Ubuntu, Linux Mint, openSUSE, Red Hat และ Fedora เป็นต้น

Ubuntu 18.04 LTS
ระบบปฏิบัติการ Ubuntu 18.04 LTS

ข้อดีของระบบปฏิบัติการลินุกซ์

  1. เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ทำให้เราสามารถปรับแต่งระบบได้อย่างอิสระ
  2. ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ส่วนใหญ่ อนุญาตให้คุณใช้งานได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการส่วนใหญ่นำลินุกซ์ไปใช้ในระบบ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เช่น เราเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, ระบบเครื่องเสียงในรถยนต์ หรือ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เป็นต้น
  3. ไม่ต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะเขาอนุญาตให้คุณใช้งานฟรีภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาต
  4. ไวรัสคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ ไม่สามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ได้ เพราะมาตรการการรักษาความปลอดภัยของลินุกซ์เอง (เช่น ระบบสิทธิ์การใช้งานไฟล์) และเพราะลินุกซ์ยังมีปริมาณผู้ใช้งานที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ จนผู้พัฒนาไวรัสคิดว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะมาสร้างไวรัสขึ้นมาเพื่อโจมตีผู้ใช้งานลินุกซ์ (คล้ายๆ กับความคิดที่ว่า จะตกปลาก็ตกในบ่อที่มีปลาเยอะๆ หน่อยย่อมให้ผลที่ดีกว่า ใช้เวลาตกปลาเท่ากันแต่จำนวนที่ตกได้ย่อมต่างกัน)
  5. ซอฟต์แวร์บนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ส่วนมากได้รับการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ทำให้มั่นใจได้ในเสถียรภาพ ความสามารถ และความปลอดภัย

ข้อเสียของระบบปฏิบัติการลินุกซ์

  • ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ เช่น การ์ดจอ, printer, USB WiFi ไม่ค่อยให้ความสนใจกับไดรเวอร์อุปกรณ์ (device driver) บนลินุกซ์ ทำให้ฮาร์ดแวร์บางตัวไม่สามารถใช้งานได้กับลินุกซ์ หรือถ้าใช้งานได้ก็ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นหากคิดจะใช้ลินุกซ์ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าฮาร์ดแวร์นั้นๆ สามารถใช้ได้กับลินุกซ์หรือไม่ ถึงแม้ว่าปัจจุบันปัญหาเรื่องไดรเวอร์บนลินุกซ์จะลดลงแล้วก็ตาม
  • ไม่สามารถติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์หลายๆ ตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์โดยเฉพาะได้ ดังนั้นหากจะเปลี่ยนมาใช้ลินุกซ์ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าซอฟต์แวร์ที่จำเป็น ต้องใช้นั้น สามารถใช้ได้บนลินุกซ์หรือไม่ หากซอฟต์แวร์ตัวนั้นใช้งานบนลินุกซ์ไม่ได้ ยังพอมีซอฟต์แวร์ตัวอื่นทดแทนได้ไหม
  • เกมบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเกมบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และหลายๆ เกมกราฟิกไม่สวยเอามากๆ ดังนั้นลินุกซ์จึงเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกม เป็นชีวิตจิตใจ

หมายเหตุ : ลินุกซ์สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้โดยเรียกใช้งานผ่านโปรแกรม Wine (ใช้ได้บางโปรแกรม) หรือ ติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ถูกติดตั้งไว้บน Virtual Machine เช่น VirtualBox หรือ VMware อีกที (ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรของระบบมากพอตัว แน่นอน.. คอมพิวเตอร์เก่าๆ คงหมดสิทธิ์ !)

ข้อมูลเพิ่มเติม


โพสต์ที่เกี่ยวข้อง


ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น
โปรดเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น