บล็อกของ PoundXI
เทคโนโลยี, คอมพิวเตอร์, เขียนโปรแกรม และอื่นๆ

สอนใช้ nano บน Linux


โพสต์เมื่อ 2020-06-27 โดย PoundXI

nano คืออะไร ?

nano คือ โปรแกรมประเภท text editor (โปรแกรมแก้ไขข้อความ) โปรแกรมหนึ่ง ที่สามารถใช้งานผ่าน command-line interface ได้

Nano Text Editor on Ubuntu Terminal

ทำไมต้องใช้ nano ?

หากต้องการจะแก้ไขไฟล์บน Linux ในโหมด command-line เช่น Linux server ก็จำเป็นจะต้องใช้งาน text editor ที่สามารถทำงานในโหมด command-line ได้ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจก็คือ nano เหตุผลเพราะ

  1. Linux ส่วนใหญ่ ติดตั้ง nano มาให้แล้ว
  2. nano ใช้เวลาในการเรียนรู้สั้นมาก เมื่อเทียบกับโปรแกรมประเภทเดียวกันอย่าง Vim

ส่วนตัวผมเอง แม้ในขณะที่กำลังใช้ Linux desktop อยู่ก็ตาม ก็มักจะแก้ไขไฟล์ config ต่างๆ ด้วยโปรแกรม text editor ประเภท command-line เพราะว่าใช้ทรัพยากรณ์เครื่องน้อยกว่าพวก text editor แบบกราฟิก และข้อดีอีกอย่างคือ หากผมเปลี่ยนไปใช้ Linux distro อื่นๆ ซึ่งบางครั้ง text editor แบบกราฟิกอาจจะเป็นคนละตัวกัน ผมก็ไม่ต้องปรับตัวใหม่อีกด้วย (ปกติผมใช้ Vim)

วิธีใช้งาน nano

1. การเรียกใช้งานโปรแกรม

การเรียกใช้งานโปรแกรมทำได้ 2 แบบ คือ

  1. พิมพ์คำสั่ง nano เพื่อเรียกโปรแกรมขึ้นมาเฉยๆ (สร้าง buffer เปล่าๆ ขึ้นมา)
  2. พิมพ์คำสั่ง nano /path/to/file เพื่อเปิดไฟล์มาดูหรือแก้ไข (ผมชอบใช้วิธีนี้)

2. ส่วนประกอบของโปรแกรม

รูปด้านล่างนี้จะเป็นหน้าตาของโปรแกรม nano เมื่อใช้เปิดไฟล์ .bashrc ด้วยคำสั่ง nano .bashrc

Nano Text Editor User Interface

โดยแถบด้านบนสุดของโปรแกรมจะแสดงชื่อไฟล์ที่ถูกเปิดอยู่ และตรงที่ผมทำกรอบสีแดงๆ เอาไว้ จะเป็นพื้นที่สำหรับแก้ไขข้อความ ส่วนด้านล่างสุดจะแสดงรายการปุ่มลัดที่อาจจะต้องใช้บ่อยๆ (เรียกว่า Shortcut List) ซึ่งตรงจุดนี้เองที่จะช่วยให้เราแทบจะไม่ต้องเรียนรู้ และแทบจะไม่ต้องจดจำวิธีการใช้งานเลย

3. ความหมายของสัญลักษณ์บน Shortcut List

สัญลักษณ์ ^ หมายถึงให้กดปุ่ม Ctrl+ และสัญลักษณ์ M- หมายถึงให้กดปุ่ม Alt+ เช่น

  • ^X หมายถึงให้กดปุ่ม Ctrl+X
  • M-U หมายถึงให้กดปุ่ม Alt+U

4. การแก้ไขข้อความ

การแก้ไขข้อความ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่คุณเลื่อน cursor ไปยังตำแหน่งที่คุณต้องการจะแก้ไขด้วยปุ่มต่างๆ ต่อไปนี้

  • ปุ่มลูกศร เพื่อเลื่อน cursor ไปทางซ้าย, ทางขวา, ขึ้น หรือ ลง
  • ปุ่ม Home หรือ End เพื่อย้าย cursor ไปยังต้นบรรทัด หรือท้ายบรรทัด
  • ปุ่ม Page Up หรือ Page Down เพื่อเลื่อน cursor ขึ้นหรือลงเป็นหน้าๆ

จากนั้นก็เพิ่ม ลบ หรือแก้ไขข้อความตามปกติ เช่นเดียวกับตอนที่คุณใช้งาน text editor ทั่วๆ ไป

5. การบันทึกไฟล์

เมื่อคุณแก้ไขข้อความเสร็จแล้ว ให้คุณกดปุ่ม Ctrl+O เพื่อบันทึกไฟล์ จากนั้นตัวโปรแกรมจะถามคุณว่า ต้องการจะบันทึกไฟล์ไว้ที่ไหน ซึ่งถ้าคุณเรียกใช้งาน nano ด้วยคำสั่ง nano /path/to/file โปรแกรมก็จะแสดง /path/to/file มาให้เลย จากนั้นคุณเพียงกดปุ่ม Enter เพื่อยืนยันการบันทึก

หรือมีอีกปุ่มลัดหนึ่งที่สามารถใช้บันทึกไฟล์ได้เช่นกัน คือ Ctrl+S โดยปุ่มลัดนี้จะบันทึกข้อมูลไปยังไฟล์ที่เราเปิดอยู่ทันที โดยไม่ถามว่าเราต้องการจะบันทึกไว้ที่ไฟล์ไหน

Nano Text Editor File Name to Write

ข้อมูลเพิ่มเติม


โพสต์ที่เกี่ยวข้อง


ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น
โปรดเข้าสู่ระบบก่อนแสดงความคิดเห็น